Home | About Us Web board | Guest Book | Contact Us |

Best view with IE 4.0 or higher at resolution 800*600 ,Text size : Mediem.


Chapter 1
 
หลักการและแนวความคิดของการบำรุงรักษา

BY:    IS SOFTWARE COMPANY LIMITED   
ศูนย์ฝึกอบรมและพัฒนาระบบการจัดการงานบำรุงรักษาด้วยคอมพิวเตอร์
CMMS ( Computerized Maintenance Management System )
               

               ปัจจุบันเครื่องจักรและอุปกรณ์ประเภทและชนิดต่างๆเข้ามามีบทบาททั้งในด้านการผลิตสินค้า การก่อสร้างต่างๆ และการอำนวยความสะดวกต่างๆในชีวิตประจำวันเป็นอย่างมาก ทั้งนี้เพื่อสนองตอบความต้องการที่จะให้ได้สินค้าและสิ่งก่อสร้างต่างๆที่มีคุณภาพดี สะดวกและรวดเร็วในการผลิตและการก่อสร้าง รวมทั้งการทำงานแทนมนุษย์ที่สะดวกและรวดเร็วเช่นเดียวกันนอกจากนี้ยังมักต้องสนองตอบความต้องการในการลดค่าใช้จ่ายในการผลิตและการก่อสร้างลงให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้อีกด้วยและความต้องการ ดังกล่าวเหล่านี้มีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นทั้งในด้านปริมาณและคุณภาพตลอดมา ซึ่งจะเห็นได้จากที่มีการพัฒนา เครื่องจักรและอุปกรณ์ใหม่ๆออกมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านการผลิตได้มีการนำเอาเครื่องจักรและอุปกรณ์อัตโนมัติรวมถึงหุ่นยนต์อุตสาหกรรมที่สามารถทำงานตามโปรแกรมที่กำหนดไว้ล่วงหน้าได้มาใช้มากขึ้น

             การนำเอาเครื่องจักรอุปกรณ์มาใช้โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการผลิตนั้นมิได้มีเพียงข้อดีที่เครื่องจักรและอุปกรณ์ดังกล่าวสามารถทำงานตามความต้องการในการผลิตได้เท่านั้นแต่ในอีกด้านหนึ่งแสดงว่าการผลิตนั้นๆ ขึ้นอยู่กับเครื่องจักรและอุปกรณ์ที่นำมาใช้ในการผลิต นั่นก็คือถ้าเครื่องจักรและอุปกรณ์ที่นำมาใช้เกิดการชำรุดเสียหายก็จะทำให้การผลิตหยุด หรือถ้าเครื่องจักรและอุปกรณ์เมื่อใช้งานไปแล้วเกิดการเสื่อมสภาพขึ้น สินค้าที่ผลิตออกมาก็จะไม่ได้คุณภาพตามที่กำหนดและความเร็วในการผลิตก็อาจลดลงไปด้วย นอกจากนี้เมื่อเครื่องจักรและอุปกรณ์เสื่อมสภาพก็จะทำให้ประสิทธิภาพของเครื่องจักรและอุปกรณ์นั้นๆลดลง เป็นผลให้มีการสิ้นเปลืองพลังงานเพิ่มมากขึ้น และหากเครื่องจักรและอุปกรณ์มีการใช้งานที่ไม่ถูกต้อง หรือออกแบบมาไม่ดีพอ รวมทั้งไม่มีการดูแลรักษาที่ถูกต้องและเหมาะสมแล้วก็จะเกิดอันตรายต่อบุคคลที่เกี่ยวข้องและทำให้เกิดมลภาวะในด้านต่างๆอีกด้วยซึ่งประเด็นเหล่านี้ถือได้ว่าเป็นข้อเสียของเครื่องจักรและอุปกรณ์เมื่อนำมาใช้ในการผลิต นอกเหนือไปจากการลงทุนในการจัดซื้อเครื่องจักรและอุปกรณ์และค่าใช้จ่ายในการใช้งานเครื่องจักรและอุปกรณ์เหล่านี้ในการผลิตที่จะต้องเสียอยู่แล้ว

             การปฏิบัติต่อเครื่องจักรและอุปกรณ์เพื่อรักษาข้อดีไว้ และทำให้ข้อเสียที่จะเกิดขึ้นมีน้อยที่สุดนั้นก็คือ การใช้งาน (operation) และการบำรุงรักษา (maintenance) ที่ถูกต้องและเหมาะสมนั่นเอง โดยการปฏิบัติต่อเครื่องจักรและอุปกรณ์ทั้งสองประการนี้จะต้องนำมาพิจารณาตั้งแต่ระยะเริ่มแรกของการสร้างเครื่องจักรและอุปกรณ์ ซึ่งมักจะเป็นระยะของการศึกษาความเหมาะสมและการออกแบบเบื่องต้น (ถ้าเป็นผู้ผลิตเครื่องจักรและอุปกรณ์มาใช้งานเอง) หรือระยะของการกำหนดรายละเอียด (specification) ของเครื่องจักรและอุปกรณ์ที่จะจัดหามาใช้ในการผลิต ผลของการนำเอาประเด็นของการใช้งานและการบำรุงรักษามา
พิจารณาตั้งแต่ระยะแรกของวงจรชีวิตนั้นก็จะทำให้ปัญหาของการใช้งานและการบำรุงรักษาที่จะต้องปฏิบัติต่อเครื่องจักรและอุปกรณ์นั้นๆเกิดขึ้นน้อยลง อย่างไรก็ตามการนำเอาเครื่องละอุปกรณ์อัตโนมัติมาใช้ในการผลิตจะทำให้ความต้องการของการใช้งานทั้งปริมาณและความยุ่งยากลง แต่ในทางตรงกันข้ามความต้องการบำรุงรักษาทั้งปริมาณและความยุ่งยากซับซ้อนจะมีมากขึ้น นอกจากนี้ลักษณะของงานบำรุงรักษาเครื่องจักรและอุปกรณ์ยังขึ้นอยู่กับตัวแปรจำนวนมาก ซึ่งส่วนใหญ่จะเกี่ยวข้องซึ่งกันและกันและมักมีลักษณะที่ไม่แน่นอนอีกด้วย ดังนั้นจึงจำเป็นต้องมีระบบการจัดการงานบำรุงรักษาที่ดีเพื่อให้มั่นใจได้ว่าการบำรุงรักษา
เครื่องจักรและอุปกรณ์จะเป็นไปอย่างถูกต้องและมีประสิทธิภาพ

วงจรชีวิตของเครื่องจักรและอุปกรณ์

             เครื่องจักรและอุปกรณ์มีการเริ่มต้นและสิ้นสุดเช่นเดียวกับมนุษย์ละสัตว์ที่มีการเกิดและตายซึ่งเรียกว่าวงจรชีวิตสำหรับวงจรชีวิตของเครื่องจักรและอุปกรณ์ที่นำมาใช้ในการผลิตหรือในโรงงานอุตสาหกรรมนิยมที่จะแบ่งออกเป็น 7 ระยะโดยมีรายละเอียดของระยะต่างๆและการนำเอาการใช้งานและการบำรุงรักษา
มาร่วมพิจารณาในแต่ละระยะดังต่อไปนี้
   1. ความต้องการหรือความคิด เป็นระยะเริ่มต้นของเครื่องจักรและอุปกรณ์ โดยเริ่มจากมีความต้องการหรือความคิดที่จะสร้างเครื่องจักรและอุปกรณ์ที่จะนำมาใช้ในการผลิต ซึ่งมักจะเป็นความต้องการหรือความคิดกว้างๆว่าจะสร้างเครื่องจักรและอุปกรณ์เพื่อนำไปใช้ทำอะไรในกระบวนการผลิตสินค้าที่กำหนด จึงยังไม่มีความจำเป็นที่จะต้องเอาการใช้งานและการบำรุงรักษามาร่วมพิจารณาในระยะนี้
   2. การกำหนดรายะเอียด เป็นระยะที่นำเอาความต้องการหรือความคิดในระยะแรกมากำหนดรายละเอียดต่างๆที่เกี่ยวข้องในด้านเทคนิคและด้านอื่นๆ เช่นการกำหนดขนาดกำลังผลิต การกำหนดแผนการดำเนินงาน เป็นต้น ซึ่งในระยะนี้ควรจะพิจารณาถึงการใช้งานและการบำรุงรักษาของเครื่องจักรและอุปกรณ์ ที่จะสร้างขึ้นด้วยว่าจะต้องมีการควบคุมการใช้งานและการบำรุงรักษาอย่างไร การนำเอาการใช้งานและการบำรุงรักษามาพิจารณาตั้งแต่ระยะต้นๆของวงจรชีวิตของเครื่องจักรและอุปกรณ์นี้ จะทำให้ค่าใช้จ่ายวงจรชีวิต (life cycle cost, LCC) หรือค่าใช้จ่ายตลอดอายุการใช้งานของเครื่องจักรและอุปกรณ์ต่ำกว่าการนำเอาการใช้งานและการบำรุงรักษามาพิจารณาในระยะหลังๆของวงจรชีวิต ทั้งนี้เนื่องจากค่าใช้จ่ายในการปรับปรุงแก้ไขเครื่องจักรและอุปกรณ์ในช่วงระยะต่างๆของวงจรชีวิตไม่เท่ากัน เช่น การปรับปรุงแก้ไขในช่วงระยะของการกำหนดรายละเอียดหรือออกแบบจะถูกกว่าการปรับปรุงแก้ไขเมื่อได้สร้าง เครื่องจักรและอุปกรณ์นั้นแล้ว เป็นต้น นอกจากนี้ยังพบว่าเครื่องจักรและอุปกรณ์ที่มีราคาถูกมักไม่ได้คำนึงถึงการใช้งานและการบำรุงรักษาในระยะต้นๆ ก็จะมีการชำรุดเสียหายมากเมื่อนำมาใช้งาน ซึ่งก็จะเป็นผลให้มีค่าใช้จ่ายวงจรชีวิตสูงกว่าเครื่องจักรและอุปกรณ์ที่มีราคาแพงกว่าแต่ไม่มีการนำเอาการใช้งานการ บำรุงรักษามาร่วมพิจารณาตั้งแต่ระยะต้นๆ
 3. การออกแบบ เป็นระยะของการออกแบบชิ้นส่วนต่างๆของเครื่องจักรและอุปกรณ์เพื่อนำมาประกอบให้ได้เครื่องจักรและอุปกรณ์ตามรายละเอียดทั้งหมดที่ได้กำหนดไว้ในระยะที่ 2 ซึ่งจะรวมการพิจารณาถึงประเด็นต่างๆที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กรรมวิธีการผลิตและแหล่งภายนอกที่จะจัดหาชิ้นส่วนแต่ละชิ้น เป็นต้น และในช่วงระยะของการออกแบบนี้จะต้องนำเอาการบำรุงรักษามาพิจารณาในรายละเอียดเพื่อเลือกรูปแบบของการบำรุงรักษาที่จะทำให้ค่าใช้จ่ายวงจรชีวิตต่ำที่สุด
  4. การสร้างหรือการผลิต เป็นระยะของการเอาแบบของชิ้นส่วนต่างๆที่ได้ออกแบบไว้ในระยะที่ 3 มาผลิตหรือจัดหาจากแหล่งภายนอกแล้วนำมาประกอบเข้าเป็นเครื่องจักรอุปกรณ์ที่ได้ประกอบแล้วมาตรวจและทดสอบซึ่งในระยะนี้จะต้องมีการควบคุมคุณภาพของชิ้นส่วนที่ได้ผลิตหรือจัดหามาแต่ละชิ้นรวมถึงเครื่องจักรอุปกรณ์ที่ได้ประกอบแล้วให้เป็นไปตามข้อกำหนดที่ได้ระบุไว้แบบ ซึ่งคุณภาพของเครื่องจักรและอุปกรณ์นี้จะมีผลโดยตรงต่อการใช้งานและการบำรุงรักษา
  5. การติดตั้งและการทดลองเดินเครื่อง เป็นระยะของการนำเอาเครื่องจักรและอุปกรณ์ที่ได้สร้างหรือผลิตโดยผู้ผลิตเสร็จเรียบร้อยแล้วไปติดตั้งในสถานที่หรือโรงงานของผู้ประกอบการ และหลังจากการติดตั้งแล้วก็จะต้องมีการทดลองตามกำหนดหรือไม่ ซึ่งในช่วงนี้จะต้องใช้ความระมัดระวังเพื่อให้แน่ใจว่าการติดตั้งนั้นได้กระทำอย่างถูกต้องตามข้อกำหนดของผู้ผลิตเครื่องจักรและอุปกรณ์สามารถปฏิบัติตามได้ทุกประการ
  6. การใช้งานและการบำรุงรักษา เป็นระยะของการเดินเครื่องจักรและอุปกรณ์เพื่อทำการผลิตสินค้า และในเวลาเดียวกันก็จะต้องทำการบำรุงรักษาตามกำหนดอย่างต่อเนื่องจนกระทั่งเครื่องจักร และอุปกรณ์นั้นๆหมดอายุการใช้งาน ซึ่งอายุการใช้งานของเครื่องจักรและอุปกรณ์จะมีอยู่ 2 ลักษณะคือ อายุการใช้งานทางเทคนิค (technical life) หมายถึงอายุการใช้งานของเครื่องจักรและอุปกรณ์ตั้งแต่เริ่มการใช้งานจนกระทั่งสึกหรอหรือเสื่อมสภาพและไม่สามารถใช้งานได้อีกต่อไป และอายุการใช้งานที่ประหยัดที่สุด (economic life) หมายถึงอายุการใช้งานที่เครื่องจักรและอุปกรณ์สามารถทำงานได้โดยมีค่าใช้จ่ายรวมทั้งหมดถูกที่สุดโดยทั่วไปแล้วเมื่อเครื่องจักรและอุปกรณ์ครบอายุการใช้งานที่ประหยัดที่สุด เครื่องจักรและอุปกรณ์นั้นมักยังคงสภาพที่สามารถทำงานได้ แต่ถ้าใช้ไปก็จะไม่คุ้มค่าใช้จ่าย
  7. การเลิกใช้งาน เป็นระยะสุดท้ายของเครื่องจักรและอุปกรณ์เกิดขึ้นเมื่อเครื่องจักรและอุปกรณ์หมดสภาพการใช้งาน ซึ่งอาจเป็นการหมดสภาพการใช้งานทางเทคนิค คือมีการสึกหรอ เสื่อมสภาพ หรือชำรุดเสียหายจนใช้งานไม่ได้ หรือหมดสภาพทางเศรษฐศาสคร์ คือการใช้งานมาจนอายุครบอายุการใช้งานที่ ประหยัดที่สุด และถ้ามีความจำเป็นที่จะต้องใช้เครื่องจักรและอุปกรณ์ประเภทเดิมอีกก็จะต้องมีการจัดหามาทดแทน โดยควรนำเอาปัญหาของการใช้งานและการบำรุงรักษาที่เกิดขึ้นกับเครื่องจักรและอุปกรณ์เดิมมาร่วมพิจารณาในการจัดหาเครื่องจักรอุปกรณ์ที่จะนำมาใช้ทดแทนด้วย

               ในกรณีที่ผู้ประกอบการโรงงานไม่ได้เป็นผู้สร้างหรือผลิตเครื่องจักรและอุปกรณ์เอง อาจพิจารณาเครื่องจักรและอุปกรณ์ที่จัดหามาใช้ในโรงงานโดยกำหนดให้ระยะเริ่มต้นของวงจรชีวิตเป็นระยะการกำหนดรายละเอียดข้อกำหนดของเครื่องจักรและอุปกรณ์ที่ต้องการใช้ในกระบวนการกำหนดรายละเอียดข้อกำหนดของเครื่องจักรและอุปกรณ์ที่ต้องการใช้ในกระบวนการผลิต ซึ่งก็ควรนำเอาการบำรุงรักษาเครื่องจักรและอุปกรณ์มาร่วมพิจารณาตั้งแต่ระยะเริ่มต้นนี้เลย และถ้าเป็นไปได้ก็ควรที่จะระบุรายละเอียดของการบำรุงรักษาที่ต้องการไว้เป็นส่วนหนึ่งของรายละเอียดข้อกำหนด (specification) ของเครื่องจักรและอุปกรณ์ตามรายละเอียดที่ได กำหนดไว้ ซึ่งการจัดหามักจะสามารถเลือกเครื่องจักรและอุปกรณ์ประเภทและชนิดเดียวกันได้จากผู้ผลิตหลายราย ในการเลือกเครื่องจักรและอุปกรณ์จากผู้ผลิตรายใดนั้น นิยมจะใช้การเปรียบเทียบค่าใช้จ่ายวงจรชีวิตเป็นเครื่องมือในการตัดสินใจ โดยค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษาจะเป็นส่วนหนึ่งของค่าใช้จ่าย วงจรชีวิตดังกล่าว
               หลังจากตกลงที่จะเลือกเครื่องจักรและอุปกรณ์จากผู้ผลิตรายใดแล้วก็จะเป็นระยะของการติดตั้งและทดลองเดินเครื่องซึ่งมักเป็นหน้าที่ความรับผิดชอบของผู้ผลิตเครื่องจักรและอุปกรณ์นั้นๆในกรณีผู้ประกอบการโรงงานที่อยู่ในฐานะผู้ใช้ก็จะต้องควบคุมการติดตั้งและทดลองเดินเครื่องอย่างละเอียด รวมทั้งต้องให้แน่ใจว่าการทำงานของเครื่องจักรและอุปกรณ์เป็นไปตามข้อกำหนดทุกประการ ทั้งนี้เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาที่เกิดขึ้นภายหลังในขณะที่การใช้งาน เมื่อการติดตั้งและการทดลองเดินเครื่องเรียบร้อยแล้วก็จะเป็นการใช้งานและบำรุงรักษาเครื่องจักรและอุปกรณ์ดังกล่าวตลอดอายุการใช้งาน และเมื่อหมดอายุการใช้งานก็จะเป็นการเลิกการใช้งานในที่สุด

.......................................................................................

   

ขอขอบคุณ IS Software ที่ร่วมเผยแพร่ความรู้สู่สังคมอุตสาหกรรมไทย