วิกฤตการณ์ Programmer เมืองไทย
โดย : Admin

 

 

ว่าจะไม่เขียนกระทู้แนวนี้แล้วนะ เพราะ HR เองชอบมาตั้งกระทู้บ่นเป็นระยะๆ เยอะแล้ว แต่ขอเขียนหน่อย กระทุ้งระบบการศึกษาไทยเพราะ บริษัทเพื่อนผม บริษัทรุ่นพี่ผม ประสบปัญหา นี้กันหมด

ก่อนอื่นต้องขอนิยามหน่อยว่า “แถวนี้ Mang เถื่อน ไม่แน่จริงอยู่ไม่ได้”

เพราะอะไร ทำไม ทั้งๆ ที่วิศวกรรมคอมพิวเตอร์ วิทยาการคอมพิวเตอร์ เทคโนโลยีสารสนเทศ ระบบสารสนเทศ หรือแม้แต่คอมพิวเตอร์ธุรกิจ ต่างก็มีมานานแล้ว บูมมาก นักเรียนแห่กันเรียนมาก แต่ทำไมถึงผลิต Programmer ออกมาได้ไม่พอต่อตลาดสักที

เพราะนักศึกษา ที่เรียนสาขาวิชาเหล่านั้น เลือกที่จะ “ไม่” เดินมาทางสายนี้เอง

ผมสัมภาษณ์เด็กจบใหม่คนหนึ่ง เกรด สามกว่า มาสมัคร Application Support
ผม : น้องทำโปรเจคจบเองหรือเปล่า
น้อง : ค่ะ
ผม : ตอนนี้บริษัทพี่ขาดโปรแกรมเมอร์มาก น้องพอจะเขียนโปรแกรมได้มั้ย
น้อง : ก็พอได้ค่ะ แต่หนูอยากทำ Support มากกว่า
ผม : ตอนนี้ Support พี่ให้ Start 12k เองนะ แล้วคนก็สมัครเยอะมาก อีกอย่างน้องสอบข้อเขียน SQL ได้เกินครึ่งพอดีพี่มีโปรเจคที่ตอนใช้สกิล SQL เยอะอยู่ ถ้าน้องมาเป็นโปรแกรมเมอร์ พี่ให้ Start 18k เลยนะน้อง
น้อง : ไม่ค่ะพี่ หนูขอเป้น Support เถอะค่ะ หรืออะไรก็ได้ที่ไม่เขียนโปรแกรมค่ะ
ผม : -*- (แสดงว่าโปรเจคจบก็โหดร้ายสำหรับน้องเค้าแล้ว ถ้ามาทำงานจริงคงไม่เกิน 3 เดือน)


บางคนยอมโอนเอียง มาเขียนโปรแกรม (จากเดิมมาสมัคร Support) เพราะข้อเสนอทาง Benefit แต่ทำได้ 3 เดือน 6 เดือนก็ออก ไม่เอาแล้วเขียนโปรแกรม ไม่ชอบ เกลียด ปวดหัว

เพราะอะไร ทำไมการศึกษาไทยถึงทำให้เด็กเกลียดการเขียนโปรแกรมได้ขนาดนี้ ยิ่งนับวัน ยิ่งผลิตได้น้อย
รุ่นผมจบ 105 คน เป็นโปรแกรมเมอร์ 25 คน (ปัจจุบันเหลือที่ยังเขียนอยู่ 12 คน) ก็ว่าน้อยแล้วนะ

ไปดึงตัวรุ่นน้องที่มหาลัยมาทำงาน
105 คน เลือกเป็นโปรแกรมเมอร์ 14 คน โอ้พระเจ้า น้อยกว่ารุ่นผมครึ่งนึงเลยเหรอเนี่ย นี่ยังไม่รวมพวกที่เขียนได้ 2-3 ปีก็เลิกอีกนะเนี่ย

ผมเลยลองมานั่งวิเคราะห์เล่นๆ ในระหว่างที่มองไปรอบๆ Food Center พบพนักงานออฟฟิศมากหน้าหลายตา
ประเทศไทยเป็นประเทศผู้ผลิตมายาวนาน นำเข้าทางเทคโนโลยี เหลือเพียงแต่ควบคุมกลไลการผลิตเท่านั้น
ระบบการศึกษา ก็สอนให้เราเป็นผู้ควบคุมกลไลการผลิต สอนให้คิดแบบละเอียดในเชิงการตรวจสอบมาตรฐานมากกว่าสอนให้มีเชิงความคิดแบบ Innovation อยู่แล้ว



สาเหตุที่สายงานนี้ วิกฤติ และกำลังจะวิกฤติหนัก (และความหนักใจก็จะไปอยู่ที่ HR ทำให้ HR นั่งกุมขมับ)

1.โปรแกรมเมอร์ทำงานสวนทางกับระบบการศึกษาบ้านเรา
ในอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ ถึงแม้ว่าเราจะนำเข้าเทคโนโลยี ในเรื่องของฐานข้อมูล ระบบปฏิบัติการ Hardware ต่างๆก็จริง แต่เรานำเข้าได้เพียง Physical เท่านั้น แต่ในเชิงซอฟแวร์ที่ถือว่าเป็นกลไลทาง Logical ล้วนๆ เราเองสามารถทำเองได้ ต่อให้ซื้อมาก็ต้อง Customize มันอยู่ดี และผู้บริโภคเลือกที่จะ Customize มันมากกว่าซื้อสำเร็จและปรับกระบวนการ Business ของตนเองให้เข้ากับซอฟแวร์ ทำให้โปรแกรมเมอร์ต้องมีแนวความคิดเชิง Innovation ซึ่งสวนทางกันกับระบบการศึกษาบ้านเรา



2.คัดกรองคนได้ตั้งแต่ตอนรับสมัคร
80% ของตำแหน่งนี้มักจะถูกสอบข้อเขียน เพื่อวัด Logical หรือความชำนาญเฉพาะของภาษาคอมพิวเตอร์ ทำให้เหลือแคนดิเดตที่สอบผ่านมาให้สัมภาษณ์น้อยมาก บางบริษัทไม่มีเลย ต่อให้ลดมาตรฐานข้อสอบลง สุดท้ายก็ทำงานไม่ได้ เพราะสาเหตุข้อสาม



3.ความกดดัน
คนที่จะเป็นโปรแกรมเมอร์ได้ยาวนานนั้น ตอน Born to be จริงๆ ส่วนคนที่ wanna be นั้น จะถูกกดดันด้วยรูปแบบการทำงาน เพราะเมื่อทำงานแล้วจะไม่มีใครมาจัดระเบียบกระบวนการความคิดของคุณใหม่ คุณต้องจัดระเบียบความคิดของคุณเสียใหม่ถึงจะอยู่รอด ต้องคิดแบบสังเคราะห์เยอะมาก ทำให้ทำไปนานๆ ชักท้อ เปลี่ยนสายงานตัวเองซะงั้น

อาชีพนี้วัด Performance ง่ายมาก ซึ่งทำให้กดดันมาก สำหรับคนที่ความสามารถยังลุ่มๆ ดอนๆ เขียนโปรแกรมมี Bug เยอะ เสร็จช้า หัวไปช้า สุดท้ายก็จะลาออกเองเพราะทำต่อไปไม่ไหว ทำให้ต่อให้ล่อด้วย Benefit ยังไง ก็ไม่อยู่ ก็เข้าใจนะ น้องบางคนลาออกไปเป็น web master แลดูแฮปปี้ มีความสุขมากกว่าเป็นโปรแกรมเมอร์เยอะเลย

ยิ่งความไม่เท่าทางความคิด ยิ่งทำให้น้องๆ กดดันตัวเอง Task งานเหมือนกัน output คล้ายกัน น้องอีกคนทำ 4 ชม. ก็เสร็จ น้องอีกคนทำยัน 5 ทุ่มก็ไม่เสร็จ นั่งตาแดงเครียด output ไม่ออกสักที ทำให้เกิดความน้อยใจในตัวเองและลาออก (ทั้งปลอบใจ ทั้งสอน แต่น้องเค้าไม่ไหว ก็ต้องปล่อยไป)


4. Turnover rate
ทุกวันนี้ โปรแกรมเมอร์ประสบการณ์ 3 ปีขึ้นไป ถูก Head Hunter โทรมาจีบแทบทุกคนในบริษัทเลย ถ้ารับเด็กจบใหม่มาด้วยเงินเดือนสตาร์ทสูงๆ ก็ต้องปรับเพิ่มให้เหล่าพี่ๆ ไม่งั้นเหล่าพี่ๆ พร้อมที่จะบินได้ตลอดเวลา T_T
นี่แทบจะเป็นสาเหตุหลักๆ เลยที่ทำให้ Turn over Rate อาชีพนี้สูงติดอันดับต้นๆ ของประเทศไทย (แชมป์แล้วมั้ง)
อีกสาเหตุหนึ่งคือ ลูกค้าไม่ยอมต่อ MA ปีที่สองจาก Vendor แต่จะใช้วิธีซื้อตัวโปรแกรมเมอร์มาเลย ซึ่งผมเองก็โดนด้วย Benefit ที่ไม่คิดว่าจะมีคนเสนอให้ (แต่ไม่เอาหรอก กว่าจะลากสังขารออกจากโปรเจคส์นั้นได้ น้ำตาจะไหล)

คิดออกแค่ 3 สาเหตุหลักๆ เป็นกำลังใจให้ HR ต่อไปนะครับ
ใครคิดออกอีก ช่วยคิดด้วยนะครับ

 

ที่มา: http://pantip.com/topic/30186572

โดย : คุณ Hyper-V  .

เนื้อหาโดย: 9engineer.com (http://www.9engineer.com/)