คนราชบุรีไม่เอาโรงไฟฟ้า (อีกแล้ว)
โดย : Admin

ที่มา: มติชนออนไลน์
24 พฤษภาคม พ.ศ. 2554
โดย สายพิน แก้วงามประเสริฐ

 

 

           หากจัดประกวดและให้รางวัลแก่จังหวัดที่มีโรงไฟฟ้ามากที่สุด คาดว่าจังหวัดราชบุรีน่าจะได้รับรางวัลนี้ เพราะเป็นที่ตั้งของโรงไฟฟ้าไม่น้อยกว่า 6 โรง
         ส่วนโรงไฟฟ้าโรงที่ 7 เคยจะสร้างในเขตตำบลปากช่อง อำเภอจอมบึง แต่ชาวบ้านประท้วง ต่อต้านอย่างแข็งขัน ด้วยการยื่นข้อเรียกร้องให้รัฐบาลสมัยพลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ ระงับการก่อสร้าง เรื่องราวก็เงียบหายไป
 


ล่าสุด เมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2554 บริษัทผลิตไฟฟ้าราชบุรีเวิร์ล โคเจนเนอเรชั่น จำกัด
ได้จัดประชุมชี้แจงรายละเอียดของโครงการสร้างโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ และรับฟังความคิดเห็นของประชาชนเพื่อกำหนดขอบเขต และแนวทางการประเมินผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมของการสร้างโรงไฟฟ้า ณ ศาลาริมน้ำ เทศบาลตำบลเจ็ดเสมียน อำเภอโพธาราม โดยมีชาวบ้าน 14 ชุมชน มาร่วมแสดงความคิดเห็น

 

ชาวบ้านส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยกับการสร้างโรงไฟฟ้า เพราะเห็นว่าโรงไฟฟ้ามีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมของชุมชน ทั้งเรื่องอากาศ เสียง ปริมาณของน้ำ คุณภาพของน้ำในแม่น้ำแม่กลอง และส่งผลต่อพืชผลการเกษตรที่อาจลดต่ำลง

ขณะที่ผู้มีแนวคิดสนับสนุนการก่อสร้างโรงไฟฟ้า โดยเฉพาะโรงไฟฟ้าพลังงานก๊าซธรรมชาติมักมีคำพูดติดปากว่าก๊าซธรรมชาติเป็นพลังงานสะอาด ซึ่งคำอธิบายเพียงแค่นี้เป็นจริงหรือ กระบวนการทำงานของเครื่องจักร กระบวนการเผาไหม้เพื่อให้ได้ไฟฟ้าเป็นกระบวนการที่ไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และวิถีชีวิตของคนในชุมชน และสุขภาพอนามัยของประชาชนจริงหรือ

ชาวบ้านไม่ได้มีความรู้อะไรมากมายนักว่า โรงไฟฟ้าที่ใช้พลังงานชนิดใดกระทบต่อวิถีชีวิตชาวบ้านมากน้อยกว่ากัน ดังนั้น แทนที่ข้าราชการที่ร่ำเรียนเกี่ยวกับเรื่องนี้โดยตรง จะเข้ามาให้ความรู้แก่ชาวบ้าน หรือเป็นปากเสียงให้ชาวบ้าน หากเห็นว่าการสร้างโรงไฟฟ้า มีผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของชาวบ้านจริงๆ

แต่ประเทศของเราไม่อาจหวังพึ่งข้าราชการได้ เพราะมีวัฒนธรรมการรอรับการรายงาน หรือหากชาวบ้านเดือดร้อนก็ต้องไปประท้วงเรียกร้อง ไม่ว่าโรงงานอุตสาหกรรมปล่อยน้ำเน่าเสีย ปล่อยสารพิษลงแม่น้ำลำคลอง แทบไม่เคยพบข้าราชการได้ออกมาต่อสู้ปกป้องชาวบ้านในชุมชนก่อน จนกว่าจะได้ถูกร้องขอ นี่คือจริตของข้าราชการไทย

 

ดังนั้นการสร้างโรงไฟฟ้า แล้วกล่าวว่าไม่มีผลกระทบต่อชุมชนจึงเป็นเรื่องที่ไม่ควรตัดสินใจเชื่อโดยไม่พิจารณาไตร่ตรองเสียก่อน

จริงหรือ? โรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติมีกระบวนการผลิตไฟฟ้าที่สะอาด แต่จากการศึกษาข้อมูลของมูลนิธินโยบายสุขภาวะ ซึ่งเขียนโดยศุภกิจ นันทะวรการ เรื่อง "การวิเคราะห์โครงการโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติและชีวมวลที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบรุนแรงตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 มาตรา 67" เมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2553 โดยเปรียบเทียบมลภาวะที่เกิดจากโรงไฟฟ้าถ่านหินขนาด 100 เมกะวัตต์ เทียบกับโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติขนาด 700 เมกะวัตต์

พบว่าโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติขนาด 700 เมกะวัตต์ จะใช้น้ำและปล่อยก๊าซไนโตรเจนไดออกไซด์เป็นสองเท่า และปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากกว่าสามเท่าของโรงไฟฟ้าถ่านหิน ขนาด 100 เมกะวัตต์ และก่อผลกระทบด้านการเจ็บป่วย ได้แก่ การเสียชีวิตแบบเรื้อรัง หลอดลมอักเสบทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ ผลกระทบเหล่านี้ใกล้เคียงกับผลกระทบของโรงไฟฟ้าถ่านหินขนาด 100 เมกะวัตต์

นอกจากนี้ยังมีผลกระทบจากมลภาวะทางอากาศ ฝุ่นละออง สารซัลเฟอร์ไดออกไซด์ รวมทั้งการเสียชีวิตอย่างฉับพลันก็อาจเกิดขึ้นได้

แม้ว่าโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติที่จะสร้างที่เจ็ดเสมียน อาจมีขนาดการผลิตไม่ถึง 700 เมกะวัตต์ก็ตาม แต่ย่อมส่งผลกระทบต่อสุขภาพอนามัยของประชาชนในท้องถิ่น วิถีการดำเนินชีวิตเปลี่ยนแปลงไป เกิดก๊าซเรือนกระจกที่เป็นส่วนหนึ่งของการเกิดภาวะโลกร้อน พืชผลทางการเกษตรอาจได้ผลผลิตน้อยลง การใช้น้ำในลุ่มแม่น้ำแม่กลองจะถูกโรงไฟฟ้าแย่งชิงน้ำไปจากเกษตรกรในท้องถิ่น ทำให้วิถีชีวิตชุมชนเปลี่ยนไป

โรงไฟฟ้าควรจะสร้างที่เจ็ดเสมียน หรือ ณ ที่ใดๆ ในจังหวัดราชบุรีอีกหรือ

 

นี่คือคำถามของคนในจังหวัดราชบุรี ที่เฝ้าถามผู้มีอำนาจ โรงไฟฟ้าที่ตั้งอยู่ในราชบุรีขณะนี้ยังไม่เพียงพออีกหรือ ?

ราชบุรีเป็นจังหวัดที่มีโรงไฟฟ้ามากที่สุดจังหวัดหนึ่งในประเทศนี้ ทั้งๆ ที่ราชบุรีเป็นเมืองเกษตรกรรม ผู้คนส่วนใหญ่ทำนา ทำไร่ ทำสวน โดยเฉพาะพืช ผัก ผลไม้ของราชบุรีมีชื่อเสียงไม่แพ้ที่อื่นๆ ปีหนึ่งๆ ผลผลิตถูกส่งออกไปเลี้ยงดูผู้คนในประเทศเป็นจำนวนมาก เมื่อโรงไฟฟ้ามีเพิ่มมากขึ้นย่อมก่อให้เกิดมลภาวะทั้งในอากาศ ทางน้ำ และการแย่งชิงน้ำจากเกษตรกรย่อมกระทบต่อผลผลิตของคนในท้องถิ่น

การสร้างโรงไฟฟ้าที่เจ็ดเสมียนเป็นสิ่งไม่สมควรอย่างยิ่ง เพราะผู้คนมีวิถีชีวิตแบบดั้งเดิม อยู่อย่างสงบเงียบ เป็นชุมชนที่เข้มแข็ง เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมที่เกิดขึ้นจากความร่วมมือร่วมใจของชาวบ้าน ทำให้เจ็ดเสมียนเป็นตลาดทางวัฒนธรรมแห่งแรกและแห่งเดียวที่สานรักสานใจของคนในชุมชน ให้รู้จักรักและภูมิใจในท้องถิ่นของตนเอง

ทุกสัปดาห์จะมีนักท่องเที่ยวจากต่างถิ่นเข้ามาท่องเที่ยวจำนวนไม่น้อย เพราะเสน่ห์ คือความเข้มแข็งของชุมชน ทำให้สามารถฟื้นตลาดเก่าให้กลับมามีชีวิตอีกครั้ง รวมทั้งเป็นแหล่งผลิตสินค้าที่มีชื่อเสียงเป็นหน้าตาของจังหวัด ทั้งหัวไชโป้วที่มีมากมายหลายยี่ห้อ ผ้าขาวม้า และสินค้าอื่นๆ อีกหลายชนิด ตลอดจนมีการสร้างสรรค์งานศิลปะของสวนศิลป์ บ้านดิน การแสดงด้านศิลปะ การมีเวทีให้เด็กๆ ในชุมชนได้แสดงออก

อีกทั้งบรรยากาศแห่งท้องทุ่งที่หาไม่ได้ในเมืองใหญ่ เสน่ห์อีกอย่างหนึ่งของเจ็ดเสมียนคือการมีรถไฟผ่านที่นักท่องเที่ยวสามารถเดินทางมาท่องเที่ยวได้สะดวก และเป็นชุมชนที่ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำแม่กลอง ที่แม่น้ำเคียงคู่กับวิถีชีวิตผู้คนในถิ่นนี้ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน

ผู้คนในท้องถิ่น หรือแม้แต่ผู้ที่ได้ไปเยือนเจ็ดเสมียนต่างเห็นความเป็นธรรมชาติที่ทำให้เจ็ดเสมียนมีเสน่ห์ การสร้างโรงไฟฟ้าที่เจ็ดเสมียนคงไม่ได้กระทบเฉพาะวิถีชีวิตของผู้คนในชุมชนนี้เท่านั้น แต่ผลกระทบจะขยายวงกว้างไปมิใช่น้อย ทั้งชุมชนโพธารามซึ่งอยู่ห่างจากเจ็ดเสมียนเพียงไม่กี่กิโลเมตร เป็นชุมชนที่เก่าแก่ มีประวัติศาสตร์อันยาวนาน มีวิถีชีวิตวัฒนธรรมของผู้คนที่หลากหลาย

แต่ผู้คนกลับอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข และกำลังได้รับการส่งเสริมให้เป็นย่านเก่าที่มีเสน่ห์ เหมาะแก่การส่งเสริมเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมอีกแห่งหนึ่ง

เมื่อโรงไฟฟ้าเข้ามาในชุมชน มลภาวะที่จะเกิดขึ้น ทั้งฝุ่นละออง อากาศที่จะร้อนมากขึ้น สารเคมีต่างๆ ที่ปนเปื้อนอยู่ในอากาศ ผลกระทบต่อการใช้น้ำในแม่น้ำของชาวนา ชาวไร่ ชาวสวน หรือแม้แต่การอุปโภคน้ำในครัวเรือนย่อมได้รับผลกระทบกระเทือนไปด้วย


สุขภาพอนามัยของผู้คนในท้องถิ่นที่ได้รับมลภาวะที่เกิดจากโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ อาจทำให้ปอดอักเสบ เสียชีวิตเรื้อรัง แล้วใครจะรับผิดชอบ ?

หากปล่อยให้เกิดปัญหามลภาวะต่อสิ่งแวดล้อม และสุขภาพอนามัยของประชาชน แล้วแก้ด้วยการจัดสรรเงินส่วนหนึ่งของโรงไฟฟ้าให้แก่ชุมชนที่อยู่รอบโรงไฟฟ้า แก่สถานศึกษา ที่อยู่ใกล้โรงไฟฟ้า แล้วแน่ใจได้อย่างไรว่าเงินเหล่านี้จะคุ้มค่ากับสุขภาพอนามัยของประชาชนที่เสียไป เพราะบางครั้งเงินไม่อาจซื้อสุขภาพที่ดีได้


พอหรือยังกับการเป็นสถานที่ตั้งของโรงไฟฟ้า หากถามใจผู้คนของเมืองนี้ที่รักความเป็นธรรมชาติ และภาคภูมิใจในท้องถิ่นของตนเองแล้ว ก็คงตอบเป็นเสียงเดียวกันว่า ควรถึงเวลายุติการสร้างโรงไฟฟ้าที่ราชบุรีเสียที

ถึงเวลาที่รัฐควรจะมีนโยบายด้านการใช้พลังงานอย่างประหยัด มากกว่าปล่อยให้มีการสร้างโรงไฟฟ้าอย่างมากมายในประเทศ ขณะที่ยังไม่ได้รณรงค์ให้ผู้คนใช้พลังงานไฟฟ้าอย่างประหยัดเท่าที่ควรจะเป็น และตราบใดที่ปล่อยให้การใช้พลังงานไฟฟ้าเป็นไปตามอำเภอใจ ตามกำลังความสามารถที่จะซื้อมาใช้ได้ โรงไฟฟ้าย่อมผุดโผล่ขึ้นเป็นระยะๆ เมื่อไปโผล่ที่ใดย่อมเกิดการต่อต้านจากผู้คนในท้องถิ่นนั้นเป็นธรรมดา


สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ ก่อนที่จะมีการลงนามระหว่างบริษัทผลิตไฟฟ้าใดๆ กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯ เพื่อนำไปสู่การสร้างโรงไฟฟ้าที่ใดก็ตาม เคยถามชาวบ้านไหมว่าเขายินยอมพร้อมใจให้ท้องถิ่นเป็นสถานที่ตั้งโรงไฟฟ้าหรือเปล่า ไม่ใช่มีเงินก็ทำอะไรได้ทุกอย่าง ไม่เห็นหัวและความรู้สึกของชาวบ้านบ้าง

ถึงเวลาหรือยังที่จะต้องหันมาทำความเข้าใจวิถีชีวิต และความต้องการของชาวบ้านว่าเพราะเหตุใดจึงไม่ต้องการโรงไฟฟ้า และถึงเวลาที่ผู้มีอำนาจพึงตระหนักว่า คนราชบุรีจะไม่เอาโรงไฟฟ้าอีกแล้ว

 

เนื้อหาโดย: 9engineer.com (http://www.9engineer.com/)