องค์กรนิวเคลียร์ยุโรปเจ๋งสร้าง "บิ๊กแบงจิ๋ว" สำเร็จ เผยมีอุณหภูมิร้อนกว่าจุดศูนย์กลางของดวงอาทิตย์1ล้านเท่า
โดย : Admin

      ที่มา: มติชน ออนไลน์


       องค์กรวิจัยนิวเคลียร์ยุโรปทดลองสร้าง "บิ๊กแบงจิ๋ว" สำเร็จ ยิงอนุภาคไอออนของตะกั่วให้ชนกัน เผยมีอุณหภูมิสูงกว่า 10 ล้านล้านองศาเซลเซียส ร้อนกว่าจุดศูนย์กลางของดวงอาทิตย์ 1 ล้านเท่า ทดลองในอุโมงค์ใต้ดินวงรียาวกว่า 27 กม. ที่บริเวณชายแดนสวิส-ฝรั่งเศส หวังไขปริศนาความลับการก่อกำเนิดของจักรวาล

 

 

เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน เว็บไซต์ของสำนักข่าวบีบีซีรายงานว่า เครื่องเร่งความเร็วอนุภาค (แอลเอชซี) ขององค์กรวิจัยนิวเคลียร์ยุโรป (เซิร์น) ประสบความสำเร็จในการสร้าง "บิ๊กแบงขนาดจิ๋ว" เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายนที่ผ่านมา โดยการทดลองที่ใช้การยิงอนุภาคไอออนของตะกั่วให้ชนกันแทนโปรตอน ซึ่งการทดลองดังกล่าวทำให้เกิดอุณหภูมิที่ร้อนกว่าใจกลางของดวงอาทิตย์ 1 ล้านเท่า



เว็บไซต์ระบุว่า เท่าที่ผ่านมาจนถึงขณะนี้ เครื่องเร่งอนุภาคแอลเอชซีซึ่งติดตั้งอยู่ในอุโมงค์ใต้ดินวงรีความยาว 27 กิโลเมตรที่บริเวณชายแดนของประเทศฝรั่งเศสกับสวิตเซอร์แลนด์ ใกล้กับนครเจนีวาของสวิตเซอร์แลนด์ได้ทดสอบการยิงโปรตอนให้ชนกัน เพื่อไขปริศนาความลับในการก่อตัวของจักรวาล ซึ่งการชนกันของโปรตอนอาจช่วยให้ค้นพบอนุภาคฮิกส์และร่องรอยของกฎเกณฑ์ทางฟิสิกส์ใหม่ๆ เช่น กรอบความคิดที่เรียกว่า สมมาตรยิ่งยวดŽ ได้
 


ทว่า ในการทดลองครั้งล่าสุด เซิร์นใช้เครื่องเร่งอนุภาคอลิซ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแอลเอชซีที่ได้รับการออกแบบมาเพื่อทดสอบยิงไอออนตะกั่วให้ชนกันโดยเฉพาะ จนเกิดบิ๊กแบงขนาดจิ๋วขึ้น โดยในช่วงเวลา 4 สัปดาห์หลังจากนี้ นักวิทยาศาสตร์ของเซิร์นจะมุ่งไปที่การวิเคราะห์ข้อมูลที่ได้จากการชนกันของไอออนของตะกั่ว และหวังว่าวิธีการนี้จะทำให้เรียนรู้เกี่ยวกับพลาสมาที่ให้กำเนิดจักรวาล ซึ่งเกิดขึ้นในช่วงเวลาเศษ 1 ส่วนล้านวินาที หลังจากการเกิดบิ๊กแบงเมื่อ 13,700 ล้านปีที่แล้ว

 


อย่างไรก็ตาม เครื่องเร่งอนุภาคตัวอื่นๆ ที่ได้รับการออกแบบมาสำหรับการทดลองแบบอื่นในตอนแรกได้เปลี่ยนมาใช้วิธีการดังกล่าวนี้แล้วเช่นกัน ก่อนที่จะกลับไปใช้วิธีการยิงโปรตอนให้ชนกันอีกครั้ง หลังจากได้ข้อสรุปจากการวิเคราะห์ข้อมูลที่ได้ในครั้งนี้แล้ว


ดร.เดวิด อีแวนส์ จากมหาวิทยาลัยเบอร์มิงแฮม ในประเทศอังกฤษ หนึ่งในนักวิจัยของเซิร์นระบุว่า การชนกันของไอออนของตะกั่วทำให้เกิดอุณหภูมิและความหนาแน่นสูงที่สุดเท่าที่เคยเกิดขึ้นในการทดลอง


ดร.อีแวนส์กล่าวว่า กระบวนการทดลองนี้ซึ่งกระทำขึ้นในสถานที่ปลอดภัยและมีสภาพแวดล้อมที่ได้รับการควบคุมทำให้เกิดลูกไฟในระดับอนุภาคย่อยจำนวนมากที่อัดแน่นและมีอุณหภูมิสูงกว่า 10 ล้านล้านองศาเซลเซียส หรือเท่ากับร้อนกว่าจุดศูนย์กลางของดวงอาทิตย์มากกว่า 1 ล้านเท่า โดยที่อุณหภูมิสูงขนาดนี้แม้แต่อนุภาคโปรตอนและนิวตรอน ซึ่งเป็นส่วนประกอบของอะตอมยังหลอมละลาย ซึ่งส่งผลให้เกิดของเหลวที่มีมวลหนาแน่นมากที่เรียกว่าควาร์ก-กลูออน พลาสมา


ทั้งนี้ ควาร์ก-กลูออน พลาสมา เป็นอนุภาคย่อยที่เป็นส่วนประกอบพื้นฐานของสสาร และเชื่อว่าควาร์ก-กลูออน พลาสมา เคยเกิดขึ้นเพียงแค่ครั้งเดียวคือช่วงเวลา 1 ในล้านวินาทีหลังจากเกิดบิ๊กแบง
 

เนื้อหาโดย: 9engineer.com (http://www.9engineer.com/)