การดูแลและบำรุงรักษาหม้อไอน้ำ ตอนที่ 2
โดย : Admin

   

  2.3 การบำรุงรักษาทุกเดือน

1.
ตรวจสอบการทำงานของ burner โดยดูจากลักษณะของเปลวไฟที่เผาไหม้ และอื่นๆ ตามที่คู่มือระบุ
2.
วิเคราะห์การเผาไหม้ โดยทำการสุ่มวิเคราะห์จากแก๊สไอเสีย และจะต้องทำการเปรียบเทียบผลการวิเคราะห์กับเดือนที่ผ่านมา ว่าผลเป็นอย่างไร การเผาไหม้ปกติดี เหมือนเดิม หรือไม่ปกติ จะได้รีบดำเนินการหาสาเหตุและแก้ไขต่อไป
3.
ตรวจสอบท่อไอเสีย ไม่ให้มีรอยรั่ว มิฉะนั้นจะมีแก๊สไอเสียรั่วไหลเข้ามาภายในห้องหม้อไอน้ำได้
4.
ตรวจสอบจุดที่ร้อนผิดปกติ บริเวณเปลือกหม้อไอน้ำโดยรอบ ซึ่งหากเจอจุดที่ร้อนผิดปกติอาจจะเกิดจากผนังอิฐทนไฟภายในแตกร้าว เป็นต้น จะต้องรีบดำเนินการหาสาเหตุและแก้ไข
5.
 ตรวจสอบน้ำที่ใช้กับหม้อไอน้ำ ว่าได้ผ่านการปรับปรุงคุณภาพน้ำมาหรือยัง และคุณภาพน้ำมีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรบ้าง
6.
ตรวจสอบว่ามีปริมาณอากาศที่เพียงพอสำหรับการเผาไหม้ โดยดูจากพื้นที่โดยรอบห้องหม้อไอน้ำที่จะต้องโปร่ง อากาศถ่ายเทได้สะดวก
7.
ตรวจสอบตัวกรองต่างๆ ทำความสะอาดหรือหากจำเป็นก็เปลี่ยนเมื่อถึงอายุการใช้งาน 
8.
ตรวจสอบระบบการจ่ายเชื้อเพลิง พร้อมอุปกรณ์ประกอบอื่นๆ เช่น ปั๊มจ่ายเชื้อเพลิง, เกจวัดต่างๆ เป็นต้น ว่ามีการทำงานผิดปกติไปบ้างหรือไม่
9.
ตรวจสอบสายพานขับอุปกรณ์ต่างๆ ว่ายังอยู่ในสภาพที่ยังใช้งานได้อยู่ และเช็คความตึงหย่อนของสายพานว่ายังสามารถใช้งานได้อยู่หรือไม่ หากไม่ตึง ต้องปรับตั้งให้กลับสู่สภาพพร้อมใช้งาน
10.
ตรวจสอบการหล่อลื่น bearing ของอุปกรณ์ต่างๆ ที่มีการหมุนว่ามีปริมาณจารบีเพียงพอหรือไม่ bearing มีการทำงานผิดปกติหรือไม่ มีเสียงดังหรือไม่ หากมีต้องรีบดำเนินการ


 

 

2.4 การบำรุงรักษาทุก 6 เดือน 

1.
ทำความสะอาดอุปกรณ์ตัดการทำงานของหม้อไอน้ำ ในกรณีที่มีระดับของน้ำในหม้อไอน้ำต่ำกว่าค่าที่กำหนดเอาไว้ ตรวจสอบว่ามีตะกอน หรือสิ่งสกปรกมาอุดตันในอุปกรณ์ดังกล่าวบ้างหรือไม่ ทำความสะอาดให้หมดและหาสาเหตุว่าความสกปรกเหล่านี้มาจากไหน และแก้ไขปรับปรุงต่อไป
2.
ตรวจสอบการทำงานของเครื่องอุ่นน้ำมันเชื้อเพลิง และตรวจเช็คว่ามีคราบตะกรันหรือสิ่งสกปรกเกาะติดอยู่ภายในเครื่องบ้างหรือไม่
3.
ตรวจซ่อมอิฐทนไฟหรือผนังด้านในของหม้อไอน้ำ ตรวจเช็คว่ามีอิฐหรือผนังหม้อไอน้ำส่วนใดเสียหายให้รีบดำเนินการซ่อม โดยจะต้องเป็นไปตามที่กำหนดเอาไว้ในคู่มือ
4.
ทำความสะอาดปั๊มน้ำมันและไส้กรองน้ำมัน เพื่อป้องกันไม่ให้มีสิ่งสกปรกอุดตัน อันจะส่งผลให้อัตราการไหลของน้ำมันไม่เป็นไปตามที่ต้องการ
5.
 ทำความสะอาด Air cleaner
6.
ตรวจสอบ Alignment ของการหมุนของ coupling ของปั๊ม จะต้องไม่เบี่ยงเบนไปมากกว่าที่คู่มือกำหนดเอาไว้
7.
ปรับตั้งระบบการเผาไหม้ใหม่ ทั้งนี้ก็ต้องทำหลังจากได้มีการตรวจสอบปริมาณของแก๊สต่างๆ ที่มีเหลืออยู่ในไอเสีย โดยจะต้องปรับตั้งการเผาไหม้ให้ค่าอัตราส่วนของแก๊สต่างๆ เป็นไปตามที่คู่มือกำหนดเอาไว้ และควรบันทึกค่าปริมาณแก๊สต่างๆ ในไอเสียอยู่ทุกเดือน เพื่อเป็นข้อมูลเอาไว้เปรียบเทียบ
8.
ตรวจสอบสภาพของ Mercury switch ว่าอยู่ในสภาพที่แตกหักหรือมีรอยร้าวหรือไม่ และปริมาณของ mercury พร่องไปบ้างหรือไม่ จะต้องเติมให้ครบตามปริมาณที่ควรจะเป็น
 
 
 
 


 2.5 การบำรุงรักษาทุกปี

 

1.
ทำความสะอาดผนังด้านที่สัมผัสโดยตรงกับไฟ ด้วยแปรง หรืออุปกรณ์อื่นๆ ตามความเหมาะสม เพื่อขจัดคราบและเขม่าสกปรก หลังจากล้างทำความสะอาดแล้ว ให้ฉีดด้วยน้ำยาป้องกันการกัดกร่อน
2.
ตรวจสอบสภาพของปล่องไอเสีย พร้อมทำความสะอาด
3.
ตรวจสอบสภาพของถังบรรจุน้ำมัน และตรวจดูว่ามีน้ำอยู่ภายในถังหรือไม่ ควรเติมน้ำมันให้เต็มถังเสมอ เพื่อป้องกันการกลั่นตัวเป็นหยดน้ำภายในถัง
4.
ตรวจเช็ควาล์วต่างๆ ไม่ควรให้มีการรั่วซึมของของเหลวได้
5.
 ตรวจเช็ค Gauge glass ว่าอยู่ในสภาพที่ยังใช้งานได้ หรือควรเปลี่ยนใหม่แล้ว
6.
ตรวจสอบการทำงานของ Safety valve หากไม่มั่นใจควรเปลี่ยนใหม่ให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้งานเสมอ
7.
หากเป็นกรณีหม้อไอน้ำที่ใช้น้ำมันเป็นเชื้อเพลิง ควรตรวจสอบสภาพของปั๊มน้ำมันว่าอยู่ในสภาพการทำงานอย่างไรควรตรวจซ่อมประจำปีปั๊มน้ำมันตามคู่มือที่ระบุเอาไว้
8.
ตรวจสอบสภาพและการทำงานของปั๊มน้ำป้อนหม้อไอน้ำให้อยู่ในสภาพที่ดีพร้อมใช้งาน
9.
ทำความสะอาด Condensate receiver และตรวจสอบสภาพโดยทั่วไปของ receiver ด้วย
10.
 กวดขันน็อตยึดอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ และอุปกรณ์ไฟฟ้าให้แน่น

 

  

สรุป
 
การใช้งานหม้อไอน้ำให้อยู่ในสภาพที่ดีตลอดเวลาจำเป็นต้องมีมาตรการ ทั้งในด้านของการตรวจเช็ค ตรวจสภาพ การเปลี่ยน และการซ่อมในแต่ละช่วงเวลาของการทำงานเช่น ทุกวัน ทุกสัปดาห์ ทุกเดือน ทุก6เดือน และทุกปี อนึ่งจากสิ่งที่ได้แนะนำไปนั้นเป็นเพียงแนวทางกว้างๆ อย่างไรก็ตามผู้อ่านควรอ้างอิงจากคู่มือของหม้อไอน้ำ ที่มีมาคู่กับการติดตั้งหม้อไอน้ำตามที่ผู้ผลิตได้แนะนำเอาไว้ เป็นแนวในทางปฏิบัติอย่างจริงจังอันจะนำไปสู่การใช้งานที่ยืนนานของหม้อไอน้ำและใช้งานได้อย่างปลอดภัย
 
 
 
 
อ.บัญญัติ นิยมวาส
คณะวิชาเครื่องกล สถาบันเทคโนโลยีราชมงคล วิทยาเขตภาคใต้
MECHANICAL TECHNOLOGY JANUARY 2005
 
 
 
ขอขอบทุกๆแหล่งที่มาของข้อมูล
 
เนื้อหาโดย: 9engineer.com (http://www.9engineer.com/)