ข้อดีของการทำงานแบบเป็นกะนอกชายฝั่งทะเล (ตอนที่ 3 )
โดย : Admin

 

เขียนโดย: Nong Fern Daddy  

 

 หลังจากที่แนะนำ บริษัทน้ำมัน (Oil company หรือ E&P company) ไปแล้ว ต่อมาก็เป็นบริษัทอีกกลุ่มนึงที่น่าสนอกสนใจไม่แพ้กัน ถ้าเปรียบ บริษัทน้ำมัน (Oil company หรือ E&P company) เป็นเจ้าของบ้าน บริษัทกลุ่มนี้ก็คือผู้รับเหมาสร้างบ้านล่ะครับ เราจะเรียกบริษัทพวกนี้ว่า บริษัทแท่นเจาะ (Rig Company)

 

  บริษัทรับเหมา หรือ บริษัทแท่นเจาะ (Rig company)

         บริษัทพวกนี้จะเป็นเจ้าของแท่นเจาะ ซึ่งตัวแท่นเจาะก็จะมีหลายๆประเภทแตกต่างกันไปตามการนำไปใช้งาน ทั้งบนบกและในทะเล ก็จะยังไม่กล่าวถึงตอนนี้ก็แล้วกัน เดี๋ยวจะงงกันไปใหญ่ (ใครใจร้อนก็ตามลิงค์นี่ไปได้เลยครับ)  http://www.dmf.go.th/kid/chap04_001.htm#seismic) เอาเป็นว่าก็เหมือนกับผู้รับเหมาสร้างบ้านนั่นแหละ เอาของมา เอาคนมา เราก็ยื่นแปลนบ้านให้ เขาก็มะรุมมะตุ้มสร้างบ้านให้เรา พวกนี้เขาก็จะมีแท่นเจาะ มีคน มีอุปกรณ์หลักๆทุกอย่างที่จำเป็น เขาก็เอาแปลนหลุมที่เราจะขุดเนี่ยมากางออกดูแล้วก็ทำการขุดๆๆๆแล้วก็ขุด จะให้ลึกแค่ไหน ใหญ่แค่ไหน ทิศทางไปทางไหน เอียงต่ำคว่ำหงายหกคะแมนตีลังกา ท่าพิศดารยังไง (กำลังขุดหลุมน้ำมันนะครับ อย่าคิดลึก) ให้ได้ตามที่ บริษัทน้ำมัน ออกแบบไว้


 


ภาพตัวอย่าง แท่นเจาะน้ำมันบนบก ( Land Rig)

ภาพตัวอย่าง แท่นเจาะน้ำมันในทะเล( Offshore Rig)

       บริษัทพวกนี้แหละที่จะมีชื่อตำแหน่งงานแปลกๆที่คนนอกวงการฟังแล้วงงๆ ซึ่งก็ยังจะไม่พูดถึงตอนนี้  แต่จะไปพูดถึงธรรมชาติของการจ้างงานของบริษัทพวกนี้ก่อน เพราะมันน่าสนใจกว่า คือเขาจะมีวิศวกรประจำแท่น และวิศวกรบริหารแท่น(อยู่ฝั่ง) เป็นพนักงานประจำ ส่วนมากก็เป็นสัญชาติเดียวกับสัญชาติบริษัท ก็ฝรั่งนั่นแหละ หรือเรียกรวมๆไปว่าพวก expat (คือไม่ใช้คนท้องถิ่นนั่นแหละ แปลถูกแล้ว ต่อไปขอใช้คำนี้นะครับ) พอบริษัทฯได้เซ็นต์สัญญากับบริษัทน้ำมัน ก็จะเฮโลขนแท่นเจาะมากันเลย ถ้าเป็นแท่นบนบกก็ถอดเป็นชิ้นๆเหมือนเลโก้เด็กเล่นนั่นแหละ แพ็คลงเรือแล้วขึ้นท้ายรถเทรเลอร์มา ถ้าเป็นแท่นในทะเลก็เอาเรือลากมาหรือติดเครื่องวิ่งมาเอง แล้วแต่ชนิดแท่นเจาะ


       พวกตั้งสำนักงานก็มาท่อมๆมองๆตั้งสำนักงานในเมือง หาตึกสวยๆราคาดีๆ แล้วก็เช่า เช่า เช่า แล้วก็เช่า คือไม่มีทรัพย์สินเลย (asset) หรือพยายามให้มีเท่าที่จำเป็น เช่ากันตั้งแต่บ้านผู้บริหาร/ วิศวกร(ฝรั่ง) รถ ตึก ไปยันเครื่องถ่ายเอกสาร แฟกซ์ คอมพิวเตอร์ ก็เพื่อความคล่องตัวตอนหมดสัญญาจะได้ไปง่ายๆ ไงครับ มีบางบริษัทเด็ดกว่า คือไม่มาตั้งบริษัทฯเลย ก็เอางี้ซิ ไทย มาเลย์ฯ เวียดนาม อินโดฯ โอ้ย ใกล้ๆกัน บินไปกินข้าวเที่ยงที่นึง บ่ายกลับมาตีกอล์ฟอีกที่นึง แล้วบินกลับมานอนอีกที่นึง วันนึง 3 ประเทศยังได้เลย ยั่งงี้ตั้งมันออฟฟิตเดียวดีก่า ประหยัดดีพอ จิ้มเลือกเอาสักประเทศ อะไรแบบนี้ แล้วก็ใช้วิธีส่งคนไปอยู่ประเทศที่ได้งาน เช่น บริษัทตั้งอยู่ที่กรุงเทพฯ แต่ส่งคนไปประจำที่มาเลเซีย 1 คน เช่าบ้านให้ มีรถให้ โน้ตบุ๊คตัวนึง ไปประชุมกับลูกค้า(บริษัทน้ำมัน) ทุกเช้า เพราะส่วนการทำงานจริงๆคือพนักงานบนแท่นซึ่งจะกล่าวถึงต่อไป จะไม่พูดถึงพวกสำนักงานนี้ละเอียดเท่าไร เพราะตำแหน่งงานมันน้อยแล้วส่วนมากเป็นผู้บริหารเสียเป็นส่วนมาก อีกทั้งยังเป็น expat อีกต่างหาก หนุ่มน้อยหน้ามนอย่างเราๆท่านๆตะกายฝาไปอีกนาน

     รู้จักพวกบนฝั่งแล้ว โดดลงทะเลหรือเข้าป่าไปบนแท่นกันเลย นึกถึงการก่อสร้างหน้างานได้ไหมครับ พวกสร้างถนนสร้างสะพาน สร้างตึก ประมาณนั้นแหละครับ มีคนงานหลายระดับ ตั้งแต่วิศวกรหญ่ายยยย คุมงานทั้งงาน แล้วก็วิศวกรแยกส่วนย่อย หัวหน้างาน หรือ ที่เราเราเรียกซุปฯหรือโฟร์แมน นั่นแหละ ลงไปถึงช่างเทคนิคที่มีทักษะ หรือกึ่งทักษะ และ ไปสุดที่กรรมกรที่ไร้ทักษะ บนแท่นๆหนึ่งจะมีคนทั้งหมดราวๆ 100-150 คน ขึ้นกับขนาดและความสามารถของแท่น ทำงานกันเป็นกะ กะล่ะ 12 ชม. รายได้จะดีกว่าคนที่ทำงานแบบเดียวกันบนบกถึง 150-200%


      แล้วเขาเอาคนมาจากไหน ...
           นี่ไงครับ ใน 100-150 คนนั้นนะมีคน 2 ส่วน ส่วนหนึ่งติดมาจากบริษัทแม่ คือติดมากับแท่น แท่นไปประเทศไหน (ตู)ไปด้วย พวกนี้มักจะเป็นระดับวิศวกร และ ช่างเทคนิคที่มีฝีมือ อีกส่วนหนึ่งคือพนักงานตั้งแต่ช่างเทคนิคมีฝีมือหรือกึ่งมีฝีมือลงไป พวกนี้จะจ้างจากประเทศนั้นๆที่ไปขุดอยู่ เช่น อยู่อ่าวไทยก็คนไทย อยู่ที่อินโดฯก็คนอินโดฯ บริษัทฯก็จะไปจดทะเบียนบริษัทฯนั้นๆในประเทศที่ไปขุด สังเกตุง่ายๆว่าจะลงท้ายชื่อบริษัทด้วยวงเล็บชื่อประเทศ เช่น บริษัท พ่อน้องเฟิร์นและน้องภัทรขุดมหาวินาศ (Thailand) จำกัด เป็นต้น แล้วก็เอาชื่อบริษัทนี้แหละ จ้างคนพวกที่สอง พอหมดงานก็ปิดบริษัทไป จ่ายค่าตอบแทนการเลิกจ้างตามกฏหมายของประเทศนั้นๆ หรือ โอนคนงานต่อให้กับบริษัทขุดเจาะที่ได้สัญญาขุดเจาะอื่นต่อไป บริษัทฯก็ใช้นโยบาย เช่า เช่า เช่า เหมือนเดิม คือพร้อมจะไปได้ทุกเมื่อว่างงั้นเถอะ ดังนั้น จะทำงานในกลุ่มนี้ต้องทำการบ้านหน่อยว่า บริษัทมันได้สัญญากับบริษัทน้ำมันกี่ปี ลูกเหลืออีก 3 ปีจบ จะพอส่งลูกเรียนจบไหม หรือ บ้านอีก 4 ปีจะผ่อนหมด ไม่ก็ ส่งกิ๊กเดือนล่ะหมื่น อีก 2 ปีกว่ากิ๊กจะจบปี 4 เห็นว่าปีสุดท้ายจะขอเพิ่มอีกเดือนล่ะ 5 พัน เป็นค่าประสบการณ์ อะไรแบบนี้ (แฮ่ๆ) ต้องกะประมาณกันให้พอดีกับรายจ่ายผูกพัน



       พวกแรกที่ติดมากับแท่นมักจะทำ 4/4 (เอาว่าเข้าใจตรงกันนะครับว่า เขียนแบบนี้แปลว่า ทำ/พัก อย่าง 4/4 = ทำ 4 อาทิตย์ พัก 4 อาทิตย์) เพราะว่าพวกนี้ต้องเดินทางมาไกลจากทวีปจากประเทศตัวเอง บริษัทต้องออกค่าเดินทางให้ เรื่องอะไรจะให้เดินทางบ่อย แถมยังเพลียจากการเดินทางข้ามเส้นเวลาที่เรียกว่า jet lag อีก ขืนทำ 2/2 ก็ไม่ต้องทำงานกันพอดี มัวแต่สลึมสลือ เดินเป็นเป็ด เดี๋ยวก็ตกน้ำตกท่าไป ส่วนพวกหลังที่จ้างคนท้องถิ่นก็จะทำ 4/3 3/3 3/2 แล้วแต่ตำแหน่งงาน หรือ นโยบายบริษัท

       คราวนี้ถ้าอยากมั่นคงคุณก็ต้องพยายามทำผลงานให้เข้าตากรรมกร พยายามเลื่อนจากไร้ฝีมือเป็นกึ่งไร้ฝีมือ ไปจนถึงมีฝีมือเฉพาะทาง อะไรแบบนี้ ถ้าคุณเริ่มต้นที่วิศวกรอยู่แล้วก็ต้องแสดงให้เห็นว่าชั้นมีฝีมือนะเฟ้ย คราวนี้พอแท่นจะย้ายเขาก็จะมาอี๋อ๋อ มาสู่ขอคุณเองว่า เนี่ยยูทำที่นี่มานาน รู้การรู้งานรู้ระบบแท่นนี้ดี จะหนีตามไปด้วยกันไหม ทำ 4/4 ออกตั๋วเครื่องบินให้ จะเอาเป็นเงินสกุลอะไร ยูจ่ายภาษีเองนะ อะไรก็ว่ากันไป คือพูดภาษาวิชาการก็คือ entry barrier สูง พูดภาษาร้านก๋วยเตี๋ยวข้างถนนก็คือ ตอนเข้าจะเข้ายาก งานมันมีลักษณะเฉพาะสูง แต่พอเข้าไปได้แล้วมันก็กันคู่แข่งที่จะเข้าไปเพิ่มเติมได้ดี แล้วถ้าคุณชำนาญด้านที่คุณทำจริงๆคุณก็สามารถต่อรอง ย้ายตัวเองไปบริษัทแท่นเจาะอื่นๆได้อย่างไม่ลำบากนัก ถ้าคุณได้ติดไปกับแท่นแล้วก็จะมีชีวิตอีกแบบนึง ทำ 4/4 แต่ได้เงินเดือนเต็ม ค่าเดินทางออกให้หมด ตอนช่วงพักคุณจะไป กรีดยาง เกี่ยวข้าว ขายประกัน เปิดอู่ซ่อมหัวใจ จะหาแฟน หรือ จะนอนเกาหลังเลี้ยงลูกเฉยๆ ก็ไม่มีใครว่า



อ่านมากก็ปวดตาพิมพ์มาก็เมื่อยนิ้ว จบมันดื้อๆอย่างนี้ดีกว่า รู้นะว่ายังมีอีกหลายประเด็นที่ยังไม่ได้พูดถึง แต่เอาเหอะ ขี้เกียจแล้ว (ประมาณวิศวกรอารมณ์ติส์ๆน่ะ) อยากรู้ประเด็นอื่นก็ไปเกาหลัง เอ๊ยไปหลังไมค์ก็แล้วกัน

ตกลงเราเหลืออีก 2 ประเภท (ใครไปตกลงกะมันฟ่ะ) คือ บริษัทให้บริการเฉพาะ (Services company) กะ บริษัทขายหรือให้บริการต่อเนื่อง (Good or services supplier) ติดค้างกันอยู่ใช่ไหมแปะโป้งไว้ก่อนนะ เมื่อไรอารมณ์ติส์มา จะมานั่งจิ้มแป้นให้อ่านกันใหม่
 
เนื้อหาโดย: 9engineer.com (http://www.9engineer.com/)