ตะกั่วในสี" อันตราย!!!
โดย : Admin

  

"ตะกั่วในสี" อันตราย!!! ........ที่ต้องไม่มองข้าม : มาดูกันว่าสียี่ห้อไหน-รุ่นอะไร ที่ควรเลี่ยง


สารตะกั่วเป็นสารที่เป็นอันตรายมาก หากเข้าสู่ร่างกายมนุษย์ สามารถทำให้เสียชีวิตได้ทันที หรือสะสมจนเกิดอาการป่วยหนักในภายหลัง "สีทาบ้าน" เป็นหนึ่งในแหล่งแพร่กระจายสารเหล่านี้ เข้าสู่ร่างกายของเด็กที่ใหญ่ที่สุด


ทั่วโลกขับเคลื่อนห้ามมีตะกั่วในสีทาบ้านและสีตกแต่ง


ในการประชุมสุดยอดแห่งสหประชาชาติเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน เมื่อปี 2545 รัฐบาลนานาชาติและองค์กรระหว่างประเทศมีมติร่วมกันในการจัดตั้งยุทธศาสตร์สำคัญด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ที่เรียกว่า "ยุทธศาสตร์การจัดการสารเคมีระหว่างประเทศ" หรือที่เรียกกันสั้นๆ ว่า "ยุทธศาสตร์ไซคัม" 
 

 

น.ส.วลัยพร สุขสุวรรณ นักวิจัยอาวุโสด้านสารเคมีและของเสียอันตราย มูลนิธิบูรณะนิเวศ กล่าวว่า รัฐบาลหลายประเทศเริ่มปรับนโยบายในการจัเการสารเคมีอันตรายภายในประเทศ โดยเน้นให้เกิดการจัดการกับสารเคมีอย่างเหมาะสมและมีเป้าหมายร่วมกันระดับโลกว่า ภายในปี 2563 การผลิตและใช้สารเคมีต้องคำนึงถึงผลกระทบต่างๆ ที่อาจเป็นอันตรายต่อมนุษย์และสิ่งแวดล้อม ด้วยเหตุนี้องค์กร Toxics link ของอินเดีย จึงเสนอให้ทั่วโลกเร่งสร้างมาตรการควบคุมการใช้ "ตะกั่ว" ในสีทาบ้านหรือสีตกแต่งต่างๆ เนื่องจากเห็นว่า "ตะกั่ว" ที่ผสมอยู่ในสีเหล่านี้เป็นแหล่งแพร่กระจายสู่ร่างกายเด็กที่ใหญ่ที่สุด
 


การทดสอบหา"ตะกั่ว"ในสี


มูลนิธิบูรณะนิเวศได้เข้าร่วมโครงการระหว่างเพื่อศึกษาการปนเปื้อนของสารตะกั่วในสีใน 10 ประเทศ ซึ่งเราได้นำผลการทดสอบดังกล่าวมาแจงให้ทราบกัน โดยการสำรวจครั้งนี้มีสีที่ถูกทดสอบทั้งหมด 317 ตัวอย่าง สำหรับประเทศไทยได้ส่งตัวอย่างสีไปทั้งหมด 27 ตัวอย่าง แบ่งเป็นสีน้ำมัน 17 ตัวอย่าง และสีพลาสติก 10 ตัวอย่าง ทั้งนี้ ยี่ห้อที่ได้เก็บตัวอย่างประกอบด้วย ยี่ห้อทีโอเอ, กัปตัน, เบเยอร์, โจตัน, นิปปอน, รัสท์-โอเลียม และเดลต้า


ผลการทดสอบออกมาปรากฎว่า 1.ไม่มี "สีพลาสติก" รุ่นใดมีความเข้มข้นของตะกั่วเกิน 90 ppm (ส่วนในล้านส่วน) 2.พบว่ามี "สีน้ำมัน" ที่มีความเข้มข้นของสารตะกั่วมากกว่า 600 ppm จำนวน 8 ตัวอย่างจากทั้งหมด 17 ตัวอย่าง ได้แก่ .

- ยี่ห้อนิปปอน Shield Pro Alkyd Enamel ตัวอย่างสีแดง มีความเข้มข้นของสารตะกั่ว 77636.7 ppm
- ยี่ห้อนิปปอน Shield Pro Alkyd Enamel ตัวอย่างสีเหลือง 505715.6 ppm
- ยี่ห้อนิปปอน Shield Pro Alkyd Enamel ตัวอย่างสีน้ำเงิน 14287.4 ppm

- ยี่ห้อรัสท์-โอเลียม Protective Enamel Hi Gloss ตัวอย่างสีแดง 43041.7 ppm
- ยี่ห้อรัสท์-โอเลียม Protective Enamel Hi Gloss ตัวอย่างสีเหลือง 333694.8 ppm
- ยี่ห้อรัสท์-โอเลียม Protective Enamel Hi Gloss ตัวอย่างสีน้ำเงิน 24259.6 ppm

- ยี่ห้อเดลต้า Gloss Enamel ตัวอย่างสีแดง 30643.2 ppm
- ยี่ห้อเดลต้า Gloss Enamel ตัวอย่างน้ำเงิน 22849.8 ppm


หมายเหตุ : ตัวอย่างสีที่นำมาทดสอบอาจไม่ครอบคลุมยี่ห้อหลักในตลาดทั้งหมด

 


"สี" ประกอบด้วยอะไรบ้าง


สีที่เราใช้อยู่ในปัจจุบันมีองค์ประกอบสำคัญ 4 ชนิด ได้แก่
1.เนื้อสี (Pigment) มีหน้าที่ทำให้เกิดสีที่สวยสดงดงามกับดวงตาของเรา
2.สารยึดเกาะ (Binder) ทำหน้าที่เป็นตัวยึดเกาะกับผนัง พื้นผิวและมีหน้าที่เป็นเนื้อของสี ทั้งนี้ เกรดของสีจะขึ้นอยู่กับสัดส่วนการผสมตัวสารยึดเกาะลงไปในผลิตภัณฑ์
3.ตัวทำละลาย (Solvent) ทำหน้าที่ให้เนื้อสีและกาวเจือจางลง จนสามารถนำไปทาได้ในบริเวณที่กว้างขึ้น ทั้งนี้ หากเป็นสีน้ำ จะใช้น้ำเป็นตัวทำละลาย ส่วนสีประเภทน้ำมัน จะใช้ทินเนอร์เป็นตัวทำละลาย โดยตัวทำละลายดังกล่าวจะระเหยออกไปหลังการทาสี
4.ตัวเพิ่มคุณสมบัติต่างๆ (Additive) ทำให้สีมีความสามรถแตกต่างกันออกไป ในปัจจุบันองค์ประกอบนี้คือจุดขายสำคัญ เช่น ความทนต่อกรดด่าง ความทนชื้น และการปกปิดรอยร้าว เป็นต้น

 


คำแนะนำในการเลือก "สีทาบ้าน"


1.สีทาบ้านมีหลายเกรด ราคาตั้งแต่ถังละ 400 - 3,000 บาท ดังนั้น ต้องเลือกใช้สีให้เหมาะสมเพื่อจะได้งานที่มีคุณภาพดี การเลือกใช้สีนั้น ควรทำการเปรียบเทียบรุ่นสินค้าของแต่ละยี่ห้อ อย่ามัวแต่มั่นใจในยี่ห้อของสินค้ามากเกินไป เพราะเมื่อนำมาเปรียบเทียบกับแบบรุ่นต่อรุ่นแล้ว จะพบว่าแต่ละยี่ห้อคุณสมบัติไม่แตกต่างกันมากนัก


2.ควรเลือกสีให้เหมาะสมกับงาน สามารถหาความรู้เพิ่มเติมหรือปรึกษาจากช่าง เช่น ปูนควรทาสีน้ำ เหล็กหรือไม่ควรทาสีน้ำมัน เป็นต้น จากนั้นจึงประเมินตัวเองว่า อยากได้สีแบบไหน จะเป็นสีกันร้อน สีแบบเช็ดได้ สีปกปิดรอยแตก สียืดหยุ่นได้ หรือสีกันคราบน้ำมัน ฯลฯ นอกจากนี้ ยังควรคำนึงด้วยว่า ต้องการสีที่มีอายุการใช้งานกี่ปี ต่อมาจึงค่อยหาแคตตาลอกมาเปรียบเทียบกันแบบรุ่นต่อรุ่น


3.ก่อนลงมือทาสี ควรลองทาสีด้วยการนำสีขนาดบรรจุเล็กๆ มาทาก่อน ถ้าชอบใจ จึงค่อยซื้อแบบขนาดบรรจุใหญ่ เพราะสีจริงที่ออกมาจะเพี้ยนไปจากสีในแคตตาลอกเล็กน้อย


4.ควรเลือก สีชนิดที่ปลอดสารตะกั่ว

 


"สารตะกั่ว" คืออะไร


"ตะกั่ว" มีสัญลักษณ์ทางเคมีคือ Pb จากชื่อภาษาละติน "Plumbum" มีเลขอะตอม 82 เป็นธาตุที่ 5 ของหมู่ IV A ในตารางธาตุ จัดเป็นธาตุโลหะชนิดหนึ่ง ทั้งนี้ มนุษย์รู้จักตะกั่วและนำมาใช้ประโยชน์ตั้งแต่วสมัยโบราณ มีหลักฐานยืนยันว่า มนุษย์รู้จักนำตะกั่วมาใช้ประโยชน์ตั้งแต่ 4,000 ปีก่อนคริสตศักราช


ปัจจุบันตะกั่วถูกใช้ในอุตสาหกรรมมากที่สุด โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมแบตตอรี่รถยนต์ งานทำบัดกรี ทำโลหะเจือ การทำท่อในอุตสาหกรรมเคมี ใช้ห่อหุ้มลวด ใช้พันสายเคเบิ้ลใต้ทะเล กระสุนปืน และใช้ผสมสีทาบ้าน


ตะกั่วเป็นพิษต่อร่างกายมนุษย์อย่างร้ายแรง เพราะภายในร่างกายมนุษย์ไม่มีควรมีสารตะกั่วอยู่เลย ถ้าพบสารตะกั่วในเลือดเกิน 10 mcg/dL จะถือว่าผิดปกติทันที แต่ร่างกายอาจยังไม่แสดงออกมา เพราะยังสามารถทนต่อตะกั่วในเลือดได้มากพอสมควร อย่างไรก็ตาม หากในร่างกายมีสารตะกั่วมากกว่า 40 mcg/dL ถือว่าเป็นอันตราย จะมีอาการเป็นพิษ และถ้าหากมีสารตะกั่วมากกว่า 100 - 150 mcg/dL จะทำให้เกิดอาการโคม่าหรือเสียชีวิตได้ทันที


แต่ที่อ่อนไหวที่สุด คือ เด็ก เพราะมีความทนทานต่อสารตะกั่วต่ำมาก เมื่อเข้าไปในร่างกายแม้เพียงนิดเดียว ก็สามารถก่อพิษร้ายแรงได้ หรืออาจมีการสะสมในระยะยาว ทำให้เกิดอาการสติปัญญาเสื่อมตามมา


*************************************


ที่มา นิตยสาร "ฉลาดซื้อ" ฉบับที่ 102 เขียนโดย กองบรรณาธิการ   

 

 

 

 
 
 

 

เนื้อหาโดย: 9engineer.com (http://www.9engineer.com/)